ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากถึงร้อยละ 20%

เริ่มต้นดูแลผู้สูงอายุต้องทำอย่างไร?

การเริ่มต้นดูแลผู้สูงอายุ ลำดับแรกต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจผู้สูงอายุก่อน ทั้งในด้านพฤติกรรม ร่างกายรวมถึงด้านสภาวะจิตใจ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าดี อาจจะไม่ได้ดีเสมอไปสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับใครที่เริ่มทำความเข้าใจผู้สูงอายุในบ้านแล้ว ลำดับต่อมาเราจะมาดูกันว่าการดูแลผู้สูงอายุมีวิธีอะไรบ้าง

1. สังเกตอาการหรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

การดูแลที่ดีต้องเริ่มต้นจากการสังเกต ทั้งสภาวะจิตใจหรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ในอดีตผู้สูงอายุสามารถเดินเองได้ แต่ปัจจุบันเรี่ยวแรงอาจจะไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นอาจจะต้องคอยดูแลขณะเดิน หรือคอยสังเกตอาการที่แสดงถึงโรค อย่างต่อมลูกหมากหรือมะเร็ง เพื่อป้องกันอาการลุกลามโดยไม่รู้ตัว

 Elder Care ดูแลผู้สูงอายุ

2. ตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อจะได้ทราบถึงความเสี่ยงของร่างกาย และสามารถนำมาปรับใช้ในการดูแลให้ถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น หากพบโรคเบาหวานก็ควรทานอาหารให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

3. เลือกทานยาที่เหมาะสม ตามแพทย์สั่ง

การทานยาสำหรับผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามาทานเอง เนื่องจากผู้คนในวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตในการกำจัดยาออกจากร่างกายจะลดน้อยลง อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นการเลือกทานยาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานจะดีที่สุด

4. การเลือกรับประทานอาหาร

อาหารเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายไม่รองรับการทานอาหารที่หลากหลายเหมือนเมื่อก่อน ระบบย่อยไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ ดังนั้นลูกหลานต้องคอยดูเรื่องอาหาร เช่น เลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย หรือเลือกใช้อาหารเสริมเพื่อเติมเต็มสารอาหารให้ครบ 5 หมู่

5. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

สำหรับสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพในที่นี้หมายถึง อบายมุข เช่น บุหรี่และสุรา ซึ่งสองสิ่งนี้เปรียบเสมือนตัวกระตุ้นให้ทำลายสุขภาพ ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นลูกหลานจึงต้องคอยดูแลไม่ให้ผู้สูงอายุทำพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

6. การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ จะแตกต่างจากคนในวัยอื่น โดยผู้คนในวัยนี้การออกกำลังกายสามาถออกกำลังได้ในระดับเบา-ปานกลาง โดยจะเน้นไปที่ การขยับเล็กๆน้อยๆ อย่างการเดินแกว่งแขนและเต้นแอโรบิคเบาๆ รวมถึงการฝึกทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้มอย่าง ไทเก็กและโยคะ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และถือเป็นบำรุงหัวใจไปในตัว นอกจากนี้การออกกำลังกายยังเป็นการออกกำลังกายสมองอีกด้วย

7. ควบคุมน้ำหนัก

การควบคุมน้ำหนักถือเป็นวิธีช่วยป้องกันโรคที่ตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคข้อเข่าเสื่อมและโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการทาน หรือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทนการทานอาหารมื้อใหญ่ เป็นต้น

8. หาวิธีผ่อนคลายความเครียด

ความเครียดเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งจะแสดงออกผ่านพฤติกรรมต่างๆ เช่น ภาวะการนอนไม่หลับหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงบ่อย สำหรับวิธีผ่อนคลายความเครียดของคนสูงวัยสามารถทำได้ ด้วยการพาไปพบปะสังคมเพื่อนฝูง เพื่อลดภาวะความเครียดการจากอยู่คนเดียว หรือใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ สร้างความสงบสุขในจิตใจของผู้สูงวัย

Elder Care ดูแลผู้สูงอายุ

9. หากิจกรรมทำยามว่าง

ในวัยเกษียณอายุผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักจะมีเวลาว่างเยอะ ดังนั้นจึงควรหากิจกรรมให้ทำยามว่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนที่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบร่างกายได้ โดยกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ การฝึกร่างกายและฝึกการใช้สมอง

  • กิจกรรมการฝึกร่างกาย เช่น การรดน้ำต้นไม้, การเดินแกว่งแขน หรือการเดินเล่นในสวนสาธารณะ เป็นต้น
  • กิจกรรมฝึกสมอง เช่น การเล่นหมากรุก หรือการเล่นเกมกระดาน เป็นต้น

10. ดูแลสุขภาพจิตใจ

การดูแลผู้สูงอายุสภาพจิตใจถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในผู้สูงวัยบางคนอาจจะเกิดภาวะซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ซึ่งสภาพจิตใจนั้นส่งผลต่อมายังสภาพร่างกายด้วย เช่น ภาวะนอนไม่หลับ การทานอาหารที่น้อยลง ดังนั้นการดูแล การให้กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หมั่นให้ความรักความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจมากขึ้น

11. ออกเดินทางสัมผัสอากาศบริสุทธิ์

การออกเดินทางท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ช่วยเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งการอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ อาจเกิดภาวะเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจได้ แต่ถ้าผู้สูงอายุได้ออกนอกบ้านได้ท่องเที่ยว จะทำให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ อีกทั้งยังป้องกันภาวะซึมเศร้าจากการอยู่ติดบ้านอีกด้วย

12. การป้องกันอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่สภาพร่างกายไม่ได้แข็งแรงสมบูรณ์ ดังนั้นลูกหลานจึงต้องคอยระวังป้องกันอุบัติเหตุอยู่เสมอ ทั้งการดูแลอย่างใกล้ชิด หรือการปรับพื้นที่บ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น

  • การเลือกวัสดุปูพื้นบ้านให้ด้านเพื่อป้องกันการล้ม
  • หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ
  • ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ
  • ติดไฟส่องสว่างทางเข้าห้องน้ำ
  • จัดบ้านไม่ให้รกจนเกินไป
  • เตรียมอุปกรณ์อำนวนความสะดวก เช่น กระโถนข้างเตียง

Elder Care ดูแลผู้สูงอายุ

สรุป

สุดท้ายนี้การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ ทั้งสภาพร่างกายและสภาวะจิตใจ จากนั้นจึงหาวิธีที่เหมาะสมในการดูแลคนในครอบครัวต่อไป สำหรับลูกหลานท่านไหนที่กำลังเริ่มต้นสนใจดูแลผู้สูงอายุภายในบ้าน ทาง Chivit-D ขอเป็นกำลังใจและเป็นทางเลือกในด้านผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพให้กับทุกบ้าน เพื่อให้บ้านเป็นพื้นที่แห่งความสุข ทั้งสุขกายและสบายใจ