Dopamine (โดปามีน) คืออะไร

Dopmine (โดปามีน) เป็นสารเคมีสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณในสมองและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จึงมีบทบาทสำคัญในการทำงานทางสรีรวิทยาและจิตวิทยา โดยจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษเมื่อเราทำอะไรที่บรรลุตามเป้าหมายหรือพึงพอใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ นั่นเองค่ะ

หน้าที่และประโยชน์

หน้าที่และประโยชน์ของโดปามีน

การควบคุมอารมณ์

โดปามีนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ หากระดับของโดปามีนไม่สมดุลจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ตามมาได้

การเคลื่อนไหว

โดปามีนช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่นและแม่นยำ หากขาดโดปามีนอาจทำให้สมองเกิดความผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวได้ เช่น โรคพาร์กินสัน

การรับรู้

โดปามีนเกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้ การเรียนรู้ ความทรงจำ ช่วยให้มีสมาธิ และตื่นตัว หากเกิดความผิดปกติของการควบคุมระดับโดปามีนจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสมาธิและการโฟกัส

การควบคุมฮอร์โมน

โดปามีนมีอิทธิพลต่อการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโปรแลกตินซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้นมบุตร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ

การตอบสนองต่อความเครียด

หากร่างกายเกิดความเครียด ระดับโดปามีนจะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้ตอบสนอง รับมือ และจัดการกับความเครียดได้

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

โดปามีนถูกใช้เป็นยาเพื่อกระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต รวมถึงปรับการไหลเวียนของเลือดในสถานการณ์ทางการแพทย์บางอย่างได้ เช่น ในกรณีที่เกิดอาการช็อกหรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำ

ความรู้ความเข้าใจ และแรงจูงใจ

โดปามีนเกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้ เช่น ความสนใจ ความจำในการทำงาน การแก้ปัญหา ช่วยให้มีสมาธิ ตื่นตัว และสามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้เรามีจุดมุ่งหมายในชีวิต พัฒนาตนเอง หรือด้านอื่นๆ ของชีวิต

ความคิดสร้างสรรค์

โดปามีนเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ ให้กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากระเบียบแบบแผนเดิมๆ

ความสุขและความเพลิดเพลิน

โดปามีนจะถูกหลั่งออกมาในเหตุการณ์ที่เรารู้สึกพึงพอใจ เช่น ขณะทานอาหารแสนอร่อย ทำงานอดิเรกที่โปรดปราน หรือการได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก

การเรียนรู้และความทรงจำ

โดปามีนเกี่ยวข้องกับการสร้างความทรงจำและกระบวนการเสริมการเรียนรู้ ช่วยให้สมองรับรู้ว่าพฤติกรรมใดเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์เชิงบวก

วิธีเพิ่ม Dopamine (โดปามีน)

วิธีเพิ่มโดปามีน

ทานอาหารดี ถูกหลักโภชนาการ

  • รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นในการสังเคราะห์โดปามีน เช่น เนื้อไม่ติดมัน ปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม
  • รับประทานอาหารที่อุดมด้วยไทโรซีน เนื่องจากไทโรซีนเป็นกรดอะมิโนที่ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นของโดปามีน อาหารที่อุดมด้วยไทโรซีน ได้แก่ โปรตีนไร้ไขมัน นม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ถั่ว และเมล็ดพืช
  • บริโภคผักและผลไม้หลากหลายชนิด เนื่องจากมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นซึ่งสนับสนุนการผลิตโดปามีน อาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระยังสามารถช่วยปกป้องเซลล์ประสาทที่ผลิตโดปามีนได้
  • ทานอาหารเสริมบำรุงสมอง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้ปลอดโปร่ง ข้อควรระวังคือต้องเลือกทานผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ผ่านการทดสอบและรับรองจาก อย. ด้วยนะคะ

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ช่วยเพิ่มการปล่อยโดปามีนในสมองได้

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

จะช่วยรักษาระดับโดปามีนให้สมดุล โดยควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน และจัดตารางการนอนหลับให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ

ฝึกรับมือ และจัดการความเครียด

หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ การหายใจเข้าลึกๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือโยคะ เนื่องจากความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลให้ระดับโดปามีนลดลง

ฝึกมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

สามารถกระตุ้นการปล่อยโดปามีนได้ เนื่องจากสมองจะเกิดการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น และสภาพแวดล้อมที่พบเจอ

เพิ่มประสบการณ์ และทำกิจกรรมใหม่ๆ

สามารถกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมองได้ โดยเฉพาะการได้ไปเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จะช่วยเพิ่มการปล่อยโดปามีนได้เป็นอย่างดี

ทำงานอดิเรกที่ชอบ

ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงโปรด การทำงานศิลปะ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะจะช่วยกระตุ้นโดปามีนได้

ลดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

เพื่อรักษาสมดุลของโดปามีนให้อยู่ในระดับปกติ การบริโภคคาเฟอีน แอลกอฮอล์ มากเกินไป อาจส่งผลโดยตรงต่อระดับโดปามีนในร่างกาย

วิธีสังเกตอาการตัวเอง ว่าขาด Dopamine (โดปามีน) หรือไม่

วิธีสังเกตว่าขาดโดปามีนหรือไม่

อย่างที่ทราบว่าโดปามีน คือ สารเคมีที่กระตุ้นการให้รางวัลกับสมอง และต้องอยู่ในภาวะสมดุลไม่มากไม่น้อยจนเกินไป แต่หากร่างกายมีโดปามีนในระดับที่ต่ำเกินไป อาจเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ลองสังเกตตัวเองดูค่ะ ว่ามีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่

  • แรงจูงใจต่ำ อยากอยู่เฉยๆ ร่างกายไม่ Active
  • รู้สึกทำอะไรไม่ถูก สมองเบลอ คิดงานไม่ออก
  • สูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ หรือโปรดปรานมากๆ
  • เกิดการสูญเสียอย่างกะทันหัน
  • มีเรื่องราวในอดีตที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง และไม่สามารถจัดการได้

สรุป

แม้ว่าโดปามีนจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากอยู่ในระดับที่ไม่สมดุล อาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท และมีอาการทางจิตเวชได้ เพราะฉะนั้นการรักษาระดับโดปามีนให้สมดุลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเองค่ะ

ด้วยความห่วงใยจาก Chivit-D by SCG


อ้างอิง
healthline.com/nutrition/how-to-increase-dopamine
scimath.org/article-science
istrong.co/single-post/dopamine