ยุคที่คุณภาพอากาศกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ฝุ่น PM 2.5 คือหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีอนุภาคขนาดเล็กมาก สามารถเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพตามมาอีกมากมาย

สาเหตุของฝุ่น PM 2.5

สาเหตุของฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 หรือ Particulate Matter ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดได้หลายสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ เช่น

  • การเผาไหม้จากยานพาหนะ โดยเฉพาะในช่วงที่การจราจรหนาแน่น
  • ภาคอุตสาหกรรม โรงงานที่ปล่อยควันและสารเคมีลอยออกสู่อากาศ
  • การเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร เช่น การเผาป่า การเผาทำลายตอซังข้าว และการเผาขยะทางการเกษตร
  • ภาวะอากาศ และสภาพภูมิศาสตร์ เช่น อากาศที่ไม่ถ่ายเทและลมพัดผ่านน้อย จะก่อให้เกิดการสะสมฝุ่น PM 2.5 ได้ง่ายขึ้น

สาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ หากเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3) ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนประเทศไทยกำหนดอยู่ที่  50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5

การหายใจและสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมายไม่ว่าจะเป็น

  • โรคทางเดินหายใจ มักมีอาการแสบระคายเคืองในจมูก ช่องคอ บางท่านอาจเป็นหวัดบ่อยครั้ง โรคหืดกำเริบ หนักสุดคือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
  • ผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และอาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
  • ผลต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดการอักเสบและเสียหายต่อเซลล์สมอง ทำให้สมองทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดหนืด เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต หากร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต

กลุ่มเสี่ยงอันตราย

กลุ่มเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5

เด็กเล็ก

ยิ่งอายุน้อย ยิ่งมีความเสี่ยง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคน้อย อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา หากฝุ่นพิษสะสมในร่างกายในปริมาณมาก อาจจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ รวมถึงสมองพัฒนาช้า ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาในที่สุด

หญิงมีครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่นโดยตรงและสัมผัสเป็นเวลานาน เพราะจากการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้

ผู้สูงอายุ

เซลล์อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง หากต้องเผชิญและสัมผัสกับฝุ่นละอองเป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคหอบหืด

ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง

เพราะต้องทำงานในสภาพแวดล้อมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจ การสูดฝุ่นขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายอาจส่งผลให้โรคที่มีกำเริบได้

การดูแลและป้องกันตัวเอง

การดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5

เราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้สัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ได้หลายวิธี เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วย หรือเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น

  • สวมหน้ากากอนามัย โดยเลือกหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ และต้องใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน โดยเฉพาะหากต้องเข้าไปทำธุระในพื้นที่ที่มีค่า AQI (ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ) แย่ หรือมีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามและอัพเดตค่า AQI ในแต่ละวันผ่านทางแอปพลิเคชัน เช่น AirVisual, AQICN, หรือ Plume Air Report เพื่อเตรียมตัวและป้องกันสุขภาพได้อย่างเหมาะสม
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไว้ในบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อลดระดับฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ ถือเป็นการฟอกอากาศให้สะอาดก่อนหายใจเข้าสู่ร่างกาย
  • หาไอเทมป้องกันฝุ่นมาใช้ เช่น เครื่องฟอกพกพาติดตัว หรือสเปรย์พ่นจมูก เพื่อช่วยดักจับฝุ่นและเชื้อโรคในอากาศไม่ให้เข้าสู่ช่องคอและปอด
  • หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการติดตามค่าคุณภาพอากาศ จากนั้นให้วางแผนป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 และปรับกิจกรรมในแต่ละวันให้เหมาะสม
  • ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในบ้าน อาจเลือกปลูกต้นไม้หรือพืชที่ช่วยดักจับฝุ่นหรือฟอกอากาศได้ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ร่างกายสูดฝุ่นเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป และหมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ

สรุป

การรับมือกับฝุ่น PM 2.5 สิ่งสำคัญคือต้องปรับตัวและดูแลสุขภาพของตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย ด้วยวิธีที่ชีวิตดีแนะนำไปข้างต้น จะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

ด้วยความห่วงใยจาก ชีวิตดี บาย เอสซีจี


อ้างอิง
who.int/news-room/fact-sheets/detail/ambient-(outdoor)-air-quality-and-health
iqair.com/th-en/newsroom/pm2-5
epa.gov/air-trends/particulate-matter-pm25-trends
samitivejhospitals.com/th/article