อาการปวดฝ่าเท้าส่งผลให้หลายท่านใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างยากลำบาก เดินก็ปวด ออกกำลังกายก็ไม่ได้ บางท่านเป็นหนักถึงขั้นไม่อยากออกจากบ้านกันเลยค่ะ แล้วจะดูแลอย่างไรได้บ้าง บทความนี้มีคำตอบ

สาเหตุที่พบ

รองช้ำ หรือโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ คือภาวะที่มีการอักเสบบริเวณใต้ฝ่าเท้า มักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนในตอนเช้า และจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงระดับการอักเสบของเอ็นบริเวณส้นเท้าไปจนถึงเอ็นร้อยหวาย หากปล่อยไว้นานๆ อาการปวดฝ่าเท้าอาจเรื้อรังถึงขั้นเกิดหินปูนงอกบริเวณกระดูกส้นเท้าได้เลยนะคะ  

อาการปวดฝ่าเท้าแต่ละแบบเป็นอย่างไร

อาการปวดฝ่าเท้าแต่ละแบบ

ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า

พบบ่อยในกลุ่มคนที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ใส่เดินหรือทำกิจกรรมระหว่างวันเป็นเวลานานๆ ทำให้น้ำหนักตัวถูกถ่ายเทไปที่ฝ่าเท้าด้านหน้า อาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณนิ้วเท้าและข้อเท้า นอกจากนี้ยังทำให้หนังบริเวณใต้ฝ้าเท้ามีลักษณะด้านตามมาได้ในภายหลัง 

ปวดกลางเท้า

ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีก้อนพังผืดอยู่บริเวณกลางฝ่าเท้า และมักปวดทันทีเมื่อเริ่มเดิน หากก้อนพังผืดมีขนาดใหญ่ เวลาลงน้ำหนักจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากคล้ายกับเหยียบหิน นอกจากนี้อาจพบได้ในกลุ่มคนที่พังผืดฝ่าเท้าขาดจากอุบัติเหตุ และมีอาการรุนแรงหรือมีรอยช้ำบริเวณฝ่าเท้า

ปวดส้นเท้า

มักเกิดจากโรครองช้ำอักเสบ โดยจะเริ่มปวดจากบริเวณส้นเท้าลามไปทั่วฝ่าเท้า ลักษณะอาการปวดจะเป็นแบบจี๊ดๆ เวลาเคลื่อนไหวเท้า ไม่ควรปล่อยไว้นาน ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษา มิเช่นนั้นอาจลุกลามไปถึงขั้นเกิดกระดูกงอกที่เท้าได้

กลุ่มเสี่ยงที่พบได้บ่อย

  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากพังผืดบริเวณฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง ส่งผลให้เวลาเดินนานๆ อาจเกิดภาวะรองช้ำขึ้นมาได้ง่าย
  • กลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน เพราะฝ่าเท้าจะได้รับแรงกระแทกมากกว่าปกติ
  • อาชีพที่ต้องเดินหรือยืนเป็นเวลานาน เพราะทำให้พังผืดที่เท้าตึง เกิดการอักเสบ และปวดฝ่าเท้าตามมา
  • กลุ่มคนที่มีลักษณะอุ้งเท้าผิดปกติ คือสูงหรือแบนจนเกินไป ทำให้เอ็นบริเวณฝ่าเท้าอักเสบได้ง่ายกว่าปกติ
  • ผู้ที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าพื้นแข็งหรือบางเป็นประจำ

วิธีรักษาอาการปวดฝ่าเท้า

วิธีรักษา อาการปวดฝ่าเท้า

บริหารฝ่าเท้า

เป็นวิธีที่ทำง่ายที่สุด สามารถทำได้เองที่บ้านหรือช่วงเวลาว่าง เพราะจะช่วยให้เอ็นร้อยหวายและพังผืดใต้ฝาเท้ามีความยืดหยุ่นขึ้น

ใช้แผ่นรองฝ่าเท้า

เป็นวิธีที่อยากแนะนำเลยค่ะ เพราะเท้าเป็นอวัยวะที่เราต้องใช้งานทุกวัน ไม่ว่าจะเดิน ยืน วิ่ง หรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอื่นๆ การเลือกแผ่นรองฝ่าเท้าให้เหมาะสมกับลักษณะเท้าของเราล้วนจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ อาการปวดฝ่าเท้า รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 

ลดการเดินหรือใช้เท้าเคลื่อนไหวหนักๆ

หากมีอาการปวดที่เริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ลดการเดินลงค่ะ หรือหากจำเป็นต้องเดินจริงๆ อาจใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงร่วมด้วยได้ รวมถึงการประคบเย็นบริเวณที่ปวดประมาณ 20 นาที 3 – 4 ครั้งต่อวัน ก็จะช่วยบรรเทาและลดอาการปวดลงได้ด้วยเช่นกันค่ะ

การรักษาอื่นๆ

เช่น ใช้ความถี่รักษา (Shock Wave) กระตุ้นเอ็นพังผืดใต้ฝ่าเท้าให้มีเส้นเลือดมาเลี้ยงซ่อมแซมมากขึ้น การฉีดยาลดการอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการปวด รวมไปถึงการผ่าตัด กรณีที่เกิดอาการผิดปกติแล้วรักษาไม่หายขาด เช่น พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบขั้นรุนแรง หรือมีหินปูนมาเกาะที่กระดูกส้นเท้าทำให้เกิดอาการปวดบวมเดินไม่ได้

ข้อควรระวัง

จุดเริ่มต้นของอาการปวดฝ่าเท้า นอกจากลักษณะฝ่าเท้าที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงรองเท้าที่สวมใส่ล้วนส่งผลต่ออาการปวดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นควรเริ่มต้นด้วยการเลือกรองเท้าสุขภาพมาสวมใส่ให้เหมาะกับลักษณะเท้าของเรา และหมั่นสำรวจพฤติกรรมตัวเองให้บ่อยๆ ว่าระหว่างวันเราเป็นคนชอบเดิน ยืนนานๆ หรือนั่งอยู่กับที่ จะได้เลือกรองเท้าให้เหมาะกับพฤติกรรม เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดหรือบาดเจ็บตามมาค่ะ

สรุป

สรุป การรักษาอาการปวดฝ่าเท้า

อาการปวดฝ่าเท้าเกิดจากหลายสาเหตุ ระดับความรุนแรงก็แตกต่างกันไป ที่สำคัญคือการปวดบริเวณฝ่าเท้าอาจไม่ได้เกิดจากเอ็นฝ่าเท้าอักเสบเพียงอย่างเดียว หากในอนาคตท่านไหนที่มีอาการปวดกำเริบอีก แนะนำให้รีบปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาให้หายขาดต่อไปค่ะ

ด้วยความห่วงใยจาก Chivit-D by SCG


อ้างอิง
siphhospital.com/th/news/article/share
vejthani.com/th/2022/07/ปวดฝ่าเท้าเกิดจากอะไร