การนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับ หรือโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นภาวะหลับไม่พอ หลับยาก ในช่วงเวลาพักผ่อน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบมากในผู้หญิงและคนชรา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อาการเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • ความเครียด มีความวิตกกังวลใจจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน นิโคติน หรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ความอ่อนเพลียจากการเดินทาง
  • มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง
  • ภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่น นอนกรนขั้นรุนแรง จนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

อาการ

อาการของโรคนอนไม่หลับ สามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น

  • ต้องใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับได้
  • นอนหลับไม่ต่อเนื่อง (Interrupted Sleep)
  • ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น
  • ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • สมาธิและความจำลดลง
  • อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย
  • ง่วงนอนในเวลากลางวัน เป็นต้น

ระดับของอาการนอนไม่หลับ

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. อาการนอนไม่หลับชั่วคราว (Transient Insomnia) มักพบในช่วงการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมที่้ไม่คุ้นชิน หรืออาจเกิดจากอาการ Jet lag เมื่อเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก (Time zone)
  2. อาการนอนไม่หลับระยะสั้น (Short-term Insomnia) มักเกิดเพียง 2-3 วัน จนถึง 3 สัปดาห์ อาจพบได้เนื่องจากเกิดภาวะเครียด
  3. อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง (Long – term or Chronic Insomnia) เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานอาจเป็นเดือน หรือ เป็นปี ซึ่งอาจเกิดผลจากการใช้ยา การเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าทางด้านร่างกายและจิตใจ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับโดยตรง (Primary Sleep Disorder)

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ผลกระทบต่อสุขภาพ

หากมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตได้ เช่น

  • เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
  • เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน
  • เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการขับรถ
  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นจากการทำงานเพิ่มขึ้นของระบบประสาทซิมพาเทติก และการทำงานที่ลดลงของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก
  • ส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง

อาการนอนไม่หลับ ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ของเรา เช่น

  • การงีบหลับในช่วงเวลากลางวันนานเกิน 30 นาที
  • การทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเคร่งเครียด หรือตื่นเต้นก่อนเข้านอน เช่น การดูรายการโทรทัศน์ ดูหนัง อ่านหนังสือที่ตื่นเต้นสยองขวัญ เล่นคอมพิวเตอร์ มือถือ โซเชียล เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หลังเที่ยงวันไปแล้ว เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต โกโก้ เป็นต้น
  • การสูบบุหรี่ก่อนเข้านอน เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ จะมีฤทธิ์กระตุ้นทำให้หลับยาก
  • การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน จะทำให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ

ดังนั้นเราจึงควรลดหรือเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อป้องกันอาการนอนไม่หลับ และเพื่อทำให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีบรรเทาอาการนอนไม่หลับ

ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการนอนหลับ

ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับมากที่สุด โดยจะต้องมีอุณหภูมิภายในห้องเหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีแสงสว่างรบกวนน้อยที่สุด ที่สำคัญคือต้องไม่มีเสียงรบกวน

เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน

หากนอนหลับไม่ถูกเวลา อาจส่งผลให้ตื่นในช่วงที่ไม่ถูกเวลาเช่นกัน เนื่องจากกลไกร่างกายจะเกิดความสับสนว่าควรนอนและตื่นเวลาใดกันแน่

งดเล่นมือถือก่อนนอน

อย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน อุปกรณ์มือถือมีผลทำให้นอนหลับยาก เพราะแสงสีฟ้าจากจอทำให้ร่างกายรับรู้และเข้าใจว่ายังไม่มืดและยังไม่ถึงเวลานอน ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินออกมาน้อยลงทำให้หลับยาก อีกทั้งการที่เราได้รับข้อมูลต่างๆ ขณะก่อนเข้านอนจะส่งผลให้สมองไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

ไม่ทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนก่อนเข้านอน

หากได้รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะนอนหลับ นอกจากนี้คาเฟอีนยังทำให้ระยะเวลาและคุณภาพในการนอนหลับลดลงอีกด้วย จึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

ใช้อุปกรณ์ช่วย

เช่น อุปกรณ์ผลิตคลื่นเสียงที่ช่วยให้นอนหลับ เพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองให้อยู่ในระดับเดลต้า จะช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น และลดอาการนอนไม่หลับได้

สรุป

อาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้อาการนอนไม่หลับที่กำลังเป็นอยู่ยังไม่ถึงขั้นเรื้อรัง แต่หากปล่อยไว้อาจเป็นหนักขึ้นจนถึงขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพได้ ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการนอนหลับ หมั่นสังเกตพฤติกรรมของตนเอง และรู้สาเหตุของอาการหรือโรคนอนไม่หลับ เพื่อให้สามารถป้องกัน และดูแลรักษาตนเองได้อย่างถูกวิธี เพราะจุดเริ่มต้นของชีวิตดี คือการนอนดีนั่นเองค่ะ

ด้วยความห่วงใยจาก Chivit-D by SCG


อ้างอิง
rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article
nksleepcenter.com/what-is-insomnia
nksleepcenter.com/effects-of-insomnia